วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สีของเหยื่อปลอม...เลือกยังไงดีหว่า?

สีของเหยื่อปลอมเวลา
ไปเลือกเหยื่อที่ร้านทีไร ต้องเสียเวลาลังเลใจทุกที น้าๆ ก็คงเป็นเหมือนกันนะครับเพราะเหยื่อแต่ละชนิดมีสีให้เลือกมากมายเหลือเกิน เอาที่เหมือนลูกปลาเหยื่อในบ้านเราก็ใช่ว่าจะมีเสมอไป บางสีไม่น่าจะกินได้แต่ก็ทำมาขายกัน วันนี้ขอมาแนะนำหลักการคร่าวๆ ในการเลือกสีของเหยื่อปลอมก็แล้วกัน
สีของน้ำข้อนี้เอามาจากเว๊ปของ mepp ครับ สีของน้ำก็เหมือนแว่นตาของปลา ถ้าน้ำสีเขียวก็เหมือนปลาใส่แว่นตาสีเขียว เหยื่อที่มีสีเขียวและสีใกล้เคียงกับเขียว เช่น น้ำเงินหรือเหลีองจะดูสว่างกว่าสีอื่นๆ ในทำนองเดียวกันถ้าน้ำแดงก็ต้องเลือกประมาณว่า เหลือง ส้ม แดง แบบสี Fire Tiger (นึกถึงสีรุ้งไว้ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง) อย่างไรก็ตามปลาไม่ได้เห็นเหยื่อทั้งตัวหรอกนะครับ แต่จะเป็นเป็น illusive หรือภาพลวงตาแบบวับๆ แวบๆ เหมือนโคโยตี้ที่เต้นในผับนั่นแหละ ทั้งแบล็คไลท์ ทั้งแฟลช แล้วก็แสงสารพัดสีสองไปมา ตัดกับบรรยาศมืดๆ เกิดเป็นภาพ illusive เล่นเอาเคลิ้มกันน้ำลายหยดกันเลย... แต่พอเจอตัวจริง เฮ้อ...ผิดหวังประจำ...

แบ็คกราวน์
แบ็คกราวน์ก็เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เช่น ปลาหลบอยู่ในแนวสาหร่าย ฝั่งตรงกันข้ามไกลๆ ออกไปเป็นผืนน้ำเปิดโล่งสว่าง น้ำเป็นสีเขียว เมื่อใช้เหยื่อสีเขียวซึ่งสว่างกว่าสีอื่นๆ ในน้ำสีเขียว ความสว่างก็จะกลืนกับแบ็คกราวน์ที่เป็นพื้นน้ำเปิดโล่ง ปลาก็มองเห็นไม่ชัดได้เหมือนกันในทางกลับกันถ้าฝั่งตรงกันข้ามไกลออกไปเป็นภูเขา หรือป่า หรือสิ่งปลูกสร้าง ทำให้แบ็คกราวน์เป็นสีเข้ม ใช้เหยื่อสีเขียวในน้ำสีเขียว เหยื่อจะสว่างตัดกับแบ็คกราวน์มากกว่าหรือการใช้เหยื่อสีเข้มในน้ำใส เพราะแสงสว่างส่องลงไปในน้ำเยอะและสิ่งต่างๆใต้น้ำก็สะท้อนแสงออกมาก สีเข้มๆ จะตัดกับแสงที่สะท้อนออกมาเกิดภาพ illusive เช่นกันหรือหน้าดินก็เป็นฉลากหลังด้วย พวกพื้นทรายจะสะท้อนแสงดูสว่างมากกว่าพวกพื้นโคลน

ความลึกของน้ำ
ยิ่งลึกแสงก็ยิ่งน้อยครับ ถ้าเหยื่อว่ายในที่ลึกมากๆ แสงน้อย เหยื่อแบบใสๆ จะกลมกลืนจนมองไม่เห็น เลือกเหยื่อแบบทึบแสงปลาจะเห็นการเคลื่อนไหวของเหยื่อได้มากกว่า

สภาพอากาศ
สภาพอากาศส่งผลต่อแสงสีที่ส่องลงไปในน้ำครับ ถ้าครึ้มๆ หน่อย หรือตอนเช้า หรือตอนเย็น แสงสีแดงและสีใกล้เคียงจะเยอะกว่า ใช้เหยื่อสีแดงหรือสีใกล้เคียงจะเห็นชัดกว่า แต่ถ้าฟ้าสว่าง มันก็มีแสงทุกสีส่องลงไปในน้ำ ถ้าใช้เหยื่อสีแดงก็จะเห็นเป็นสี แด๊ง แดง ปลาก็ระแวงได้เหมือนกัน
เหยื่อแบบสีโครเมียม
เหยื่อแบบสีโครเมียม อาจเป็นสีเงินโครเมียม หรือสีทองโครมเมียม สะท้อนเงาเป็นกระจกเลย เวลาลงน้ำเหยื่อพวกนี้ก็สะท้อนเงาสิ่งรอบข้างเช่นกันครับ เช่นตกแถวแนวสาหร่ายก็สะท้อนเงาสาหร่ายกลืนกับเงาสาหร่าย ตกแถวแนวกิ่งไม้ตอไม้ก็สะท้อนเงากิ่งไม้ตอไม้ เหมือนลูกปลาที่ปรับสีตัวเองให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เวลาเหยื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดเป็นภาพ illusive เหมือนฉากการล่องหนของ predator คือเห็นเป็นอะไรบางอย่างใสๆ วูบๆ วาบๆ

เหยื่อแบบใส
เหยื่อแบบใส หรืออาจเป็นเขียวใส เหลืองใส แดงใส น้ำเงินใส หรือใสแบบหลายๆ สี ใส่เกล็ดเงินเกล็ดทองระยิบระยับเข้าไปด้วยก็มี ก็คล้ายๆ กับเหยื่อแบบโครมเมียมนั่นและครับ ให้แสงส่องผ่านให้กลืนกับฉากหลังบ้างเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับสีของตัวเองให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมให้เกิดภาพ illusive เช่นกัน ปลามันอาจนึกส่ง "ฮิ ฮิ หนอนตัวนี้โง่จริงๆ ปรับสีตัวเองไม่เนียนเลย ฉันยังเห็นได้ลางๆ กินมันเลยดีว่า!" แล้วมันก็มางับเบ็ด..เสร็จเรา อิ อิ (^_^)

สีปลาบาดเจ็บ
สังเกตดูว่าเหยื่อปลั๊กส่วนใหญ่จะคางสีแดง นั่นคือลักษณะของปลาป่วยหรือได้รับบาดเจ็บครับ คางแดง เหงือกแดง ครีบแดง ท้องแดง ลิ้นแดง หรือแม้กระทั่งเบ็ดแดงดูเหมือนมีเลือดออก (ลองไปสังเกตปลาทองที่ป่วยดูนะครับ) อีกลักษณะนึงก็คือจุดดำๆบริเวณค่อนไปทางหาง จุดใหญ่ๆ เท่าลูกตาปลานั้นแหละ อันนี้เลียนแบบรอยช้ำบนตัวปลา เหมือนกับว่าถูกปลาตัวอื่นชาร์จมาแล้วทีนึง รอดมากได้แต่ก็ช้ำ อาจร่อแร่ด้วย เหมือนกับปลาตัวอื่นชงไว้แล้ว ปลาอีกตัวที่มาเจอก็กินเสียเลย

ก็เอาไว้เป็นแนวทางในการเลือกเหยื่อก็แล้วกันนะครับ อย่าลืมสังเกตุด้วยนะครับว่าแถวๆ นั้นมีปลาอะไรที่เป็นปลาเหยื่อ หน้าตาเป็นอย่างไร ลูกปลาพวกนั้นตัวเล็กใหญ่แค่ไหนสร้าง illusive แบบไหน เลือกสีได้แล้วก็ต้องทดลองหาแอ็คชั่นช้าเร็ว นุ่มนวลหวือหวา และความลึกที่เหมาะสมด้วย ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องจินตนาการและลองผิดลองถูกกันไปครับ ขอให้ทุกคนสนุกสนานกับทริปตกปลาครับ

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทความแปล บางส่วนจากบทความ "Hunt of Big Bass" เรื่อง เส้นทางการอพยพ(Migration Route) โดย Craig De Fronzo" มาให้น้าๆ ได้อ่านกันครับ

---ทางปลา(Migration Route)---
"ผมเคยใช้คำนี้(ทางปลา)มาหลายครับและเชื่อว่าต้องมีมากกว่า 2-3 คนคิดในใจว่า "ไอ้คนนี้มันพูดถึงอะไรว่ะ?" เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการอพยพหนีหนาวลงใต้เหมือนที่ฝูงนกทำกัน แต่ปลาหรือฝูงปลาจะใช้เส้นทางเดิมทุกวันทางปลาคือเส้นทางที่ปลาหรือฝูงปลาใช้ว่ายน้ำเดินทางจากน้ำตื้นสู่น้ำลึกไปและกลับ
ปลาเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมที่แน่นอน มันใช้เส้นทางเดิมๆ นอกเสียจากว่าเกิดเหตุที่ต้องเอาชีวิตรอดปลาจึงจะออกนอกเส้นทาง ผมค้นพบเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อนขณะที่ตกปลาอยู่ในทะเลสาบที่น้ำใสมากๆ และผมอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นเส้นทางที่ปลาใช้เดินทางเข้าออกบริเวณน้ำตื้น ผมพบว่าปลาจะใช้จุดเดิมในการว่ายจากน้ำตื้นสู่น้ำลึกและว่ายจากน้ำลึกสู่น้ำตื้น และในวันอื่นๆ ผมก็พบว่าปลายังคงใช้จุดเดิม ทำให้ผมสรุปได้ว่าปลามีการใช้เส้นทางเดิมทุกวันโดยอาศัยภูมิประเทศเป็นจุดสังเกตในการเดินทางเข้าออก
ภูมิประเทศในอุดมคติที่ปลาชอบใช้เป็นทางเข้าออกคือแนวน้ำตื้นที่ลาดชันออกไปสูงน้ำลึกที่ชันมากๆ เป็นจุดที่เหมาะกับการเข้าออกเพราะปลาสามารถเข้าสู่แนวน้ำตื้นได้โดยสังเกตุเห็นได้ยากและสามารถหนีจากน้ำตื้นลงไปสู่น้ำลึกได้อย่างรวดเร็ว ภูมิประเทศจะเป็นดียิ่งขึ้นไปอีกถ้ามีเสา ต้นไม้ ก้อนหิน หรือสิ่งใดก็ตามที่สามารถยึดเป็นหลักได้ ซึ่งเมื่อปลาจะว่ายสู่แนวน้ำลึก ปลาจะมุ่งสู่หลักนั้นก่อน จากนั้นจึงหันหัวว่ายสู่น้ำลึก ซึ่งแนวคิดนี้ผมได้พิสูจน์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนว่ามันใช้ได้"

---จุดซุ่ม(Ambush Points)---
"พฤติกรรมที่ชัดเจนอย่างนึกสำหรับปลาใหญ่คือไม่ต้องการออกแรงมากนักเพื่อจับเหยื่อ ปลาใหญ่จึงมักหาจุดซุ่มที่สามารถจับเหยื่อได้ง่ายๆ มีหลายจุดที่นักตกปลามองข้ามไป ผมเคยเห็นปลาซุ่มอยู่บริเวณแยกต่อเล็กๆ กลางกระแสน้ำ บางครั้งก็เห็นปลาใหญ่สองตัวซุ่มอยู่หลังกอหญ้าเล็กๆ ที่เมื่อมีเหยื่อผ่านมาปลาจะพุ่งแหวกกอหญ้าออกมาโจมตีเหยื่อ จุดซุ่มอาจเป็นแอ่งเล็กๆ ที่หน้าดิน ตอไม้ หรือก้อนหิน จุดซุ่มเล็กๆ เหล่านี้บางครั้งดูแล้วไม่น่าเป็นที่หลบซ่อนได้ แต่ความจริงแล้วมีปัจจัยมากมายใต้น้ำที่ทำให้จุดซุ่มเล็กๆที่นักตกปลามักมองข้ามนี้กลายเป็นจุดซุ่มที่ปลาใหญ่ชื่นชอบ"

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553



ปลาชอบอยู่แบบไหน อย่างไร ดูรูปปุ๊บเข้าใจปั๊บ ดูดีๆว่าปลาจะหันหัวออกเสมอด้วยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

ความรู้เกี่ยวกับคันเบ็ดโบรอน



วัสดุโบรอนเป็นวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์อากาศยาน ยานอวกาศ และเสื้อเกราะกันกระสุน เมื่อนำมาผลิตคันเบ็ดแล้วจะได้คันเบ็ดที่เรียวเล็ก น้ำหนักเบา ดีดส่งเหยื่อได้ดี เซ้นส์สูงและทนทานกว่ากราไฟท์ครับ นิยมนำมาทำเป็นคันฟลายและคันสปินนิ่ง เพื่อให้ได้คันน้ำหนักเบาและส่งเหยื่อน้ำหนักเบาได้ดีกว่า

ทำความเข้าใจสักนิดกับกราไฟท์และโบรอนนะครับ ตามรูปด้านบนเลย โครงสร้างกราไฟท์และโบรอนจะมีโครงสร้างเป็นตาข่าย 6 เหลี่ยมเหมือนกันครับ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ

ตาข่ายแต่ละชั้นของกราไฟท์จะยึดสลับชั้นกัน คือ ชั้นที่ 1 ยึดกับ 3, 5, 7,... และชั้นที่ 2 ยึดกับ 4, 6, 8,...

ส่วนตาข่ายของโบรอนจะยึดกันทุกชั้น 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8,... ครับ และนอกจากนี้โบรอนยังเป็นสารกึ่งตัวนำ (semi-conductor) ทำให้มีแรงยึดเหนี่ยวแบบโลหะเพิ่มเติมด้วย จึงแข็งแรงกว่ากราไฟท์มากครับ

ความรู้เกี่ยวกับไกด์ไททาเนี่ยม

เมื่อเร็วๆ นี้ได้ดูวิดีโอสอนการตกปลา เห็นนักตกปลาระดับแชมป์ในวิดีโออธิบายไปตีเหยื่อไป แค่แป๊บเดียวตีไป 20 ไม้แล้ว ได้ปลามาโชว์ 1-2 ตัวด้วย หลังจากที่กรอเหยื่อกลับมาแล้วเขาจะตีเหยื่อกลับลงน้ำเร็วมากๆ เหมือนเครื่องจักรอัตโนมัติเลย และคำที่เขาพูดถึงบ่อยๆ ในวิดีโอ คือ "ประสิทธิภาพ"หมายถึงการตีเหยื่อเข้าไปในสไตรค์โซนให้ได้มากที่สุด การตีเหยื่อเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการตกปลาด้วยเหยื่อปลอม และส่วนประกอบของคันเบ็ดก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ตีเหยื่อได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ไกด์ไททาเนียมเป็นเทคโนโลยีนึงที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ประสิทธิภาพในการตกปลาสูงขึ้น สำหรับการตกปลาในบ้านเราก็ยังมีคนสงสัยเรื่องไกด์ไททาเนียมกันอยู่ ผม คิดว่าหลายๆ คนคงลืมสังเกตไปว่ารอกดังๆ อย่าง Abu หรือ Daiwa หรือแม้แต่ Daiwa Zillion PE ที่ออกแบบมาสำหรับสาย PE ก็ยังใช้ตัวเกลี่ยสายที่เป็นไททาเนียม (Titanium Nitride)และระบุไว้ด้วยว่าเป็น Cut proof (ตัดไม่เข้า)

ถ้าเรานำไกด์ของฟูจิมาเรียงตามลำดับจะได้ว่า
1)ไกด์ SiC (Silicon Carbide) แข็งที่สุดคือประมาณ 1.5 เท่าของความแข็งเพชรธรรมชาติ ระบายความร้อนได้ดีที่สุด และเบาที่สุด
2)ไกด์ Alconite (Reinforced Aluminium Oxide) แข็งเท่าๆ กับเพชรธรรมชาติ ระบายความร้อนได้เป็นอันดับสอง แต่หนักที่สุด
3)ไกด์ Hardloy (High grade Aluminium Oxide) ไกด์สีเทา ความแข็งน้อยกว่าเพชรธรรมชาติเล็กน้อย เบาเป็นอันดับสองรองจาก SiC แต่ระบายความร้อนได้แย่ที่สุด
4)ไกด์ O-Ring (Auminium Oxide) แข็งเท่ากับ Hardloy Ring แต่หนักกว่าและบายความร้อนได้ดีกว่า Hardloy เบากว่า Alconite

เมื่อนำไกด์ไททาเนียมมาเปรียบเทียบกับกับไกด์ฟูจิแล้ว จะพบว่าไกด์ไททาเนียมจะเบาที่สุดเพราะมีแต่เฟรม ระบายความร้อนได้ดีเท่ากับ SiC ความแข็งของไกด์พอๆ กับ Hardloy แข็งแรงทนทานต่อแรงกระแทกหมดปัญหาเรื่องแหวนไกด์แตกหรือกระเทาะ นอกจากนี้รูไกด์ที่ใหญ่ขึ้นยังช่วยให้ส่งสายได้ไหลลื่นขึ้นด้วย

กล่าวโดยสรุปแล้วไกด์ไททาเนียมมีความแข็งแรงไม่แพ้ไกด์เซรามิคอย่างฟูจิเลย การช่วยให้คันเบ็ดมีน้ำหนักเบาขึ้น บาลานซ์ดีขึ้น ตีเหยื่อได้ไกลขึ้น โดยยังคงความแข็งแรงทนทานไว้ และตีเหยื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งเหล่านี้คือวัตถุประสงค์สำคัญของการออกแบบไกด์ไททาเนียม นอกจากนี้การที่สายเบ็ดสัมผัสกับไกด์ไททาเนียมซึ่งโดยตรงยังให้ทำให้เซ๊นส์ของคันเบ็ดสูงกว่าอีกด้วย

หวังว่าเรื่องราวที่เล่ามาคงทำให้น้าๆ ทุกท่านได้มุมมองใหม่เกี่ยวกับอุปกรณ์ตกปลาไม่มากก็น้อยครับ

ขอบพระคุณทุกท่านครับ

มีแต่ป๊อก ไม่มีแป๊ก กับ vibration



เหยื่อไวเบรชั่นแบบนี้เป็นไม้ตายในการตีปลาช่อนมานาน แม้มีกระดี่เหล็กขึ้นมาทาบรัศมี แต่เสน่ห์ของไวเบรชั่นก็ไม่มีวันจางไป แรงสั่นสะเทือนดี แอ็คชั่นแรงเร็ว ตีไกล ครอบคลุมพื้นที่กว้างอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้รูปร่างหน้าตา เสียงเร้าใจ ควบคุมความลึกได้และตกได้ทุกระดับความลึกถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ไวเบรชั่นเหนือกว่ากระดี่เหล็กที่เอาแต่มุดหน้าดินอย่างเดียว

เทคนิคง่ายๆสำหรับไวเบรชั่นนะครับ

(1) ขั้นแรกต้องมีไว้ใช้ซักตัวก่อนครับ ถ้ายังไม่มีก็ประมูลได้เลยครับ ลงไว้ 4 ตัวเลยจากนั้นก็เตรียมรอกคันกับแว่นโพลาไรซ์ซักอันก็ออกลุยได้


(2) ซ้อมตีเหยื่อดูก่อน ชี้ปลายคันลงแล้วกรอสายดูว่าความเร็วขนาดไหนที่ทำให้เหยื่อว่ายที่ระดับความลึกที่สม่ำเสมอ ซ้อมซัก 2-3 ไม้ก็พอได้แล้ว

(3) ตีเหยื่อตามแนวตลิ่ง แนวพืชน้ำ หรือที่ที่คิดว่าปลาหลบอยู่ ความลึกก็เอาแค่เรามองเห็นเหยื่อแบบวับๆ แวมๆ ด้วยความเร็วที่ซ้อมไว้ ถ้ามีตัวอยู่ก็น่าโดน

(4) แผนสองครับ ทีนี้ตีเหยื่อแล้วรอดูว่าใช้เวลากี่วินาทีกว่าเหยื่อถึงหน้าดินถ้าซักประมาณ 6 วินาที ก็ตีใหม่แล้วนับถึง 4-5 วินาทีก็กรอสายตามที่ซ้อมไว้เหยื่อไวเบรชั่นจะจมลงประมาณวินาทีละครึ่งฟุต ถ้าทำแบบที่ว่ามาเหยื่อจะว่ายเหนือหน้าดินประมาณครึ่งฟุตครับ


(5) แผนสุดท้ายครับ ทำเหมือนข้อ (4) อีกที แต่ที่นี้กรอสายแบบไฮสปีดไปเลยครับถ้าเข้าถูกที่ถูกมุม แม้ว่าปลาไม่หิวแต่มันก็มีรีเฟล็กซ์สไตรค์ได้ ได้ตัวกันบ้างครับ

ลองใช้วิธีการที่กล่าวมาเป็นแนวทางเพื่อพัฒนาการนำเสนอเหยื่อไวเบรชั่นของน้าๆ ให้ประสบความสำเร็จกันทุกคนนะครับ ขอให้โชคดีครับ ขอบคุณมากครับ มีความสุขกับการตกปลาทุกท่านครับ...^_^

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

Search Bait & Follow up Bait

ได้อ่านหลายๆ บทความเกี่ยวกับการตกปลาแบสของทางอเมริกา ก็พอจะจับทางกลยุทธพื้นฐานที่เขาใช้กันได้บ้างครับและน่าจะนำมาปรับใช้กับการตกปลาบ้านเราได้
ส่วนสำคัญที่สุดของการตกปลาคือการหาหมายให้ได้ก่อนครับ ก็อาจจะถามจากคนที่รู้แหล่ง สังเกตจากสภาพแวดล้อม สังเกตการปลาขึ้นน้ำ ฝูงกุ้ง ฝูงปลาเหยื่อ หรือใช้โซน่าสแกนสำรวจสิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศใต้น้ำที่คาดว่าปลาจะอาศัยอยู่

Search Bait
หลังจากที่ได้หมายที่คาดว่าจะมีตัวแล้ว เราจะกำหนดตำแหน่งของปลาให้แคบลง โดยอาศัยหลักการที่ว่าปลาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งในหมายและน่าจะมีปลาตัวใดตัวหนึ่งหรือมากกว่าที่กำลังแอ็คทีฟและพร้อมตอบสนองต่อเหยื่อ เราจะเลือกใช้เหยื่อที่กระตุ้นให้เกิด reflex strike หรือการชาร์จที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณของนักล่า เหยื่อแบบนี้จะมีแอ็คชั่นที่หรือหวา มีแสงสะท้อน มีเสียงและสร้างคลื่นน้ำกระตุ้นการสไตรค์ของปลา และควรเป็นเหยื่อที่เคลื่อนที่เร็วเพื่อจะได้ครอบคลุมพื้นที่ได้มาก ทำให้หาตำแหน่งของฝูงปลาได้ง่ายขึ้น เหยื่อแบบนี้เรียกว่า Search Bait ซึ่งได้แก่ ใบพัด/buzzbait,สปินเนอร์/สปินเนอร์เบท,สปูน,ปลั๊กประเภทต่างๆ ทั้งผิวน้ำและดำน้ำ หรืออาจเป็นเหยื่ออื่นๆ ที่สามารถสร้างแอ็คชั่นโดยการลากเหยื่อเร็วๆ ได้

Follow-up Bait
หลังจากที่กำหนดตำแหน่งของฝูงปลาได้แล้ว ก็อาจใช้ Seach Bait ตีไปที่ตำแหน่งนั้นต่อไปเพื่อตกปลาที่กำลังแอ็คทีฟขึ้นมาให้มากที่สุด เป็นการประหยัดเวลา (เวลาแข่งตกปลาต้องใช้เวลาทุกวินาทีให้คุ้มค่า) เมื่อตี Search bait ไปแล้วปลาชาร์จน้อยตัวลงหรือไม่ชาร์จแล้ว ก็ควรเช็คบริเวณนั้นอีกครั้งด้วยเหยื่อประเภท Follow-up bait เหยื่อประเภทนี้เป็นประเภทเคลื่อนที่ช้า เหมือนจริง ให้ปลาได้มีเวลาพินิจพิจารณานานๆ มีแอ็คชั่นเหมือนอาหารมื้อง่ายๆ ที่ไม่ต้องออกแรงไล่ล่า เช่น ปลาบาดเจ็บจะตายไม่ตายแหล หรือเหมือนจิ้งจก แมลง ไส้เดือน หรือหนอนที่ตกลงมาในน้ำ การชาร์จลักษณะนี้เรียกว่า Opportunistic feeding หรือการกินตามโอกาสอำนวย เหมือนเราไม่หิวแต่เห็นมันฝรั่งแผ่นซักชิ้นสองชิ้นก็อยากกิน แต่ถ้าให้กินข้าวผัดจานใหญ่ให้หมดคงไม่กิน เป็นธรรมชาติของสัตว์ที่จะกินอาหารเพื่อสะสมพลังงานไว้แม้จะไม่หิว เหยื่อ Follow-up bait ที่นิยมกันได้แก่ หนอนยาง/ปลายาง/เหยื่อยางสารพัดแบบ,เหยื่อรับเบอร์จิ๊ก,ปลั๊กแบบหยุดกลางน้ำ (Suspension) หรืออาจเป็นเหยื่ออื่นๆ ที่สร้างแอ็คชั่นแบบช้าได้
มีเหยื่อหลายตัวนะครับที่สามารถเป็นทั้ง Search Bait และ Follow-up Bait ได้ ขึ้นอยู่กับนักตกปลาว่าจะสร้างแอ็คชั่นแบบไหน เช่น หนอนยางแบบ texas ที่สามารถสร้างแอ็คชั่นทั้งกระตุกเร็ว หรือลากช้าๆ ได้, ป๊อบเปอร์สามารถป๊อบเร็วๆ หรือป๊อบแล้วหยุดนานๆ ได้, เหยื่อกบยางลากผิวน้ำเร็วๆ หรือหยุดให้จมลงไปหน้าดินได้ หรือปลั๊กแบบดำน้ำลึกก็สามารถลากได้ทั้งเร็วและช้าแล้วแต่ว่าต้องการให้เกิดการชาร์จเหยื่อแบบไหน ก็ลองนำหลักการที่ว่ามาไปประยุกต์ใช้ดูและหวังว่าจะช่วยให้การออกทริปแต่ละครั้งสนุกสนามมากยิ่งขึ้นครับ... ขอให้มีความสุขกับการตกปลาครับ