วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เหยื่อติด ปลาไม่แ_ก สติแตก รองเท้าขาด

...วางแผน เตรียมอุปกรณ์และเหยื่อถึงตี 2 ออกไปตกปลา ตีเหยื่อไปก็ไปติดกับตอ ตียังไงปลาก็ไม่กิน แถมยังลอยหน้าลอยตามาให้เห็นอีก ร้อนก็ร้อน แดดก็แรง เมื่อยก็เมื่อย รองเท้าก็มาขาดอีก เฮ้อ... ชีวิตนักตกปลา...

...ตีเท็กซัสนี่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการตีเหยื่อ ตีเหยื่อ แล้วก็ตีเหยื่ออย่างไม่วอกแวก ตอนแรกๆ ก็ตีได้ดี ได้จังหวะ มีปลามาชาร์ตแต่ไม่ติด แต่พอเห็นมันขึ้นมาลอยหน้าลอยตากันเป็นระยะๆ แต่ตีเท่าไหร่มันก็ไม่ยอมกินก็เลยเสียสมาธิไป ตี4-5ทีก็เปลี่ยนเหยื่อ เปลี่ยนอยู่นั่นแหละหวังว่าจะพยายามเร่งให้มันมากินเร็วๆ ก็กลายเป็นเร่งตัวเอง แถมใช้ชุดสปินนิ่งหมุนซ้าย เมื่อยแขนขวาน่าดู...

...สรุปสกอร์...ศูนย์ ...

บทเรียนที่ได้วันนี้
- อย่าเอาเหยื่อไปมากไปเกินไป ทำให้วอกแวก
- อย่าไปสนใจปลาตัวที่มันลอยหน้าลอยตาให้เราเห็น ตัวที่กินเหยื่อเป็นพวกที่ซ่อนอยู่ และมีกว่าเยอะ
- เน้นตีเหยื่อเข้าไว้ เหยื่ออยู่ในน้ำนานเท่าไหร่ โอกาสก็มาเท่านั้น
- ตีเหยื่อปลอมใช้หมุนขวาดีกว่าไม่ว่าจะเป็นเบทหรือสปิน หมุนซ้ายต้องใช้มือขวาทั้งตีทั้งออกแอ็คชั่น เมื่อยมือน่าดู...
...มีความสุขกับการตกปลานะครับ...

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ระบบหน่วง (Daiwa vs Shimano) ตอน 2

...หวังว่าจากตอนที่ 1 คงพอเข้าใจกลไกการเกิดสายฟู่กันบ้างแล้ว ทีนี้มาเข้าใจถึงการทำงานของระบบหน่วงแต่ละอย่างกัน แต่ก่อนอื่นขออธิบายกันเรื่องศัพย์ภาษาอังกฤษกันหน่อยว่า ระบบหน่วงของรอกเบท ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Cast Control System หรือ Brake System ส่วนระบบเบรคของรอกเบท ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Drag System ก็ดูขำๆ ดีนะครับ...
...ตอนนี้มาทำความเข้าใจแบ็คกราวด์ทางวิทยาศาสตร์ของระบบหน่วงกัน ระบบหน่วงที่จะพูดถึงในบทความนี้มีอยู่ 3 แบบคือ
1. ระบบหน่วงแกนสปูลหรือ Spool Tension
2. ระบบหน่วงแม่เหล็กหรือ Magnetic
3. ระบบเม็ดหน่วงหรือ Centrifugal

1. ระบบหน่วงแกนสปูล หรือ Spool Tension ระบบนี้เท่าที่เคยเห็นก็มีในรอกเบททุกตัว แล้วก็อยู่ข้างมือหมุนด้วย ในรูปที่ 1 เป็นตำแหน่งของระบบหน่วงแกนสปูลในรอก CT-700 ครับ ปุ่มนี้บ้านเราเรียกกันว่าปุ่มปรับหน่วงหรือ Spool tension knob หลักการก็ไม่มีอะไรมาก ปรับให้ปุ่มปรับหน่วงไปกดที่ปลายสปูลเพื่อให้เกิดแรงเสียดทาน ปรับแน่นมากก็เกิดแรงเสียดทานมาก ปรับหลวมหน่อยก็เกิดแรงเสียดทานน้อยหรือไม่มีเลย ตามสมการ

F=uN

โดย F คือแรงเสียดทานที่เกิดกับปลายของแกนสปูล, u คือสัมประสิทธิแรงเสียดทานหรือตัวคูณคงที่ และ N คือแรงกดของปุ่มปรับหน่วง
เห็นได้ว่าในสมการไม่มีตัวแปรที่เกี่ยวกับการหมุนของสปูลเลย ดังนั้นเราสามารถแสดงกราฟแรงหน่วงกับความเร็วในการหมุนของสปูลได้ดังรูปที่ 2


2. ระบบหน่วงแม่เหล็ก หรือ Mag Force (Magnetic Force) มีแรงหน่วงเพิ่มขึ้นแบบ Linear คือสปูลหมุนเร็ว มีแรงหน่วงมาก สปูลหมุนช้ามีแรงหน่วงน้อย ตามสมการ

T=cwf^2

โดย T คือแรงเบรคbrake torque), c คือค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านเป็นค่าคงที่ที่ขึ้นอยู่กับโลหะที่ทำสปูลและดีไซน์ของตัวรอก และสปูล, f^2 อันนี้หมายถึง f ยกกำลังสองครับ โดย f คือปริมาณกระแสแม่เหล็ก (Magnetic flux) พูดง่ายๆ ก็คือแรงดูดของแม่เหล็กนั่นเอง

จากสมการจะเห็นว่าแรงแปรผันตาม w หรือความเร็วในการหมุนของสปูล และแปรผันกับ f แบบยกกำลังสอง โดยค่า f หรือกระแสแม่เหล็กจะมากจะน้อยเป็นไปตามคลิ๊กหน่วงที่เราปรับ โดยแต่ละคลิ๊กจะทำให้ตำแหน่งของแม่เหล็กขยับไปเท่าๆ กันก็อนุมานว่าสนามแม่เหล็กก็เปลี่ยนแปลงไปเท่าๆ กัน ดังนั้นจะได้กราฟแรงหน่วงดังรูปที่ 3


ชื่อเต็มๆ ของแรงเบรคที่เกิดนี้เรียกว่า Magnetic Brake Torque หรือ Eddy Current Brake Torque แม้เรารู้สึกว่าแม่เหล็กดูดเฉพาะเหล็ก แต่ที่เคยทำงานมาพบว่าแม่เหล็กดูดทองคำด้วย (แผ่นทองบางๆ ที่ฉาบบนบอร์ดอิเล็กโทรนิกส์ประเภท flex) ไอ้เรื่องดูดไม่ดูดนี้มันเกี่ยวกับสาร magnetic ในโลหะ ส่วนกรณีของ Eddy Current Brake Torque นั้นเกิดจากแรงแม่เหล็กกระทำต่ออิเล็กตรอนอิสระที่มีอยู่ในโลหะทุกชนิด เมื่ออิเล็กตรอนอิสระได้รับอิทธิพลจากสนามแม่เหล็กและมีการเคลื่อนที่ไปในทางเดียวกัน เกิดเป็นสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กดึงดูดกับแม่เหล็กกลายเป็นแรงต้านทานการหมุนขึ้นมา ปรากฎการณ์อีกอย่างนึงที่ขอกล่าวถึงในที่นี้คือปรากฎการณ์ Skin Effect เป็นปรากฎการณ์ที่อิเล็กตรอนเฉพาะที่ผิวของโลหะเท่านั้นที่เกิดปรากฎการณ์สนานสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กจนเกิดแรงต้าน พูดง่ายๆก็คือระบบหน่วงแม่เหล็กที่มีพื้นผิวมาก แรงต้านก็มากไปด้วย จากรูปที่ 4 เป็นระบบหน่วงแม่เหล็กของ Daiwa เทียบกับรอก Silstar ที่ใช้ระบบแม่เหล็กเหมือนกัน ในระบบหน่วงของ Daiwa มีชิ้นส่วนเป็นรูปถ้วยและทำจากเหล็กด้วย แม้ใช้แม่เหล็กน้อยก็มีแรงเบรคมากได้

3. ระบบเม็ดหน่วงหรือ Centifugal สร้างแรงหน่วงโดยอาศัยแรงเหวี่ยงของสปูลเหวี่ยงเม็ดหน่วงให้ไปสัมผัสกับวงแหวนให้เกิดแรงเสียดทาน รูปที่ 5 เป็นรูประบบเม็ดหน่วงของ Shimano Cardiff 100A ระบบเม็ดหน่วงมีแรงหน่วงเพิ่มขึ้นแบบ Parabolic คือเมื่อสปูลหมุนเร็วขึ้น แรงหน่วงจะเพิ่มขึ้นเป็นยกกำลังสองตาม ตามสมการ

F=m(wr)^2

โดย F คือแรงที่เม็ดหน่วงกระทำกับวงแหวนให้เกิดแรงเสียดทาน, m คือมวลของเม็ดหน่วย, w คือความเร็วในการหมุนของสปูล และ r คือรัศมีหรือระยะห่างจากจุดศุนย์กลางสปูลไปถึงเม็ดหน่วง

จากสมการเห็นได้ว่าแรงหน่วงแปรผันตามความเร็วในการหมุนของสปูลยกกำลังสอง และแปรผันตรงตามมวลซึ่งก็คือน้ำหนักของเม็ดหน่วง(รวมไปถึงจำนวนของเม็ดหน่วงที่เปิดใช้งานด้วย) สามารถแสดงเป็นกราฟได้ดังรูปที่ 6


ทีนี้เพื่อให้เข้าใจระบบหน่วงแต่ละแบบ เราต้องเข้าใจการทำงานของระบบหน่วงก่อน โดยมีแนวทางง่ายๆ คือให้สังเกตว่าเกิดอาการฟู่ตอนไหนนะครับคือ
1) เมื่อขว้างเหยื่อออกไปแล้วเกิดอาการฟู่หลังจากเหยื่อผ่านจุดสูงสุดไปแล้วก็ให้ปรับ "หน่วงแกนสปูล" ให้แน่นขึ้น เพราะระบบหน่วงแกนสปูลมีผลช่วงที่เหยื่อกลับมามีแรงดึงกระทำกับสปูลอีกครั้งหลังจากจุดสูงสุด (หาอ่านรายละเอียดได้ในตอนที่ 1 นะครับ)

2) เมื่อขว้างเหยื่อออกไปแล้วเกิดอาการฟู่ก่อนที่เหยื่อไปถึงจุดสูงสุด ถ้าแบบนี้ให้ปรับระบบหน่วงแม่เหล็กหรือเม็ดหน่วงจะเข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันการฟู่ โดยดูจากได้รูปที่ 7

รูปที่ 7 นี้ได้จากการนำรูปที่ 5 และ 6 มาพล็อตเทียบและหักลบกับความเร็วสปูล จากรูปเห็นได้ว่าระบบเม็ดหน่วง (เส้นสีแดง)จะลดความเร็วสปูลให้เป็นแนวเดียวกับกับความเร็วของเหยื่อ (เส้นประสีส้ม) เพราะระบบเม็ดหน่วงนั้นมีแรงหน่วงเปลี่ยนไปตามความเร็วเป็นแบบ parabolic เช่นเดียวกับความเร็วของเหยื่อ ส่วนระบบหน่วงแม่เหล็ก (เส้นสีเขียว) จะลดความเร็วของสปูลลงอย่างรวดเร็วจนเหมาะสมกับความเร็วของเหยื่อ จากนั้นก็ปล่อยสปูลให้เป็นหมุนฟรีเป็นอิสระ
มาถึงตรงนี้ผมก็ไม่กล้าสรุปหรอกนะครับว่าอะไรดีกว่า แต่ขอให้ความคิดเห็นว่าจากลักษณะการทำงานของระบบหน่วงแม่เหล็กนั้นหน่วงให้ความเร็วของสปูลลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงระดับความเร็วของเหยื่อจากนั้นก็ปล่อยให้สปูลหมุนอย่างอิสระนั้นทำให้ตีเหยื่อได้ระยะกว่า และตีเหยื่อน้ำหนักเบาได้ดีกว่า ระบบหน่วงแม่เหล็กนั้นสามารถปรับช่วงโค้ง (เส้นสีเขียว) ให้โค้งมากหรือน้อยได้หลากหลายกว่า ทำให้ตีต้านลมได้ดีกว่า
ส่วนระบบเม็ดหน่วงนั้นแรงหน่วงกระทำต่อสปูลอย่างสม่ำเสมอและช่วงโค้ง (เส้นสีแดง) ปรับได้น้อยกว่าระบบแม่เหล็ก แต่ด้วยช่วงโค้งที่ใกล้เคียงกับความเร็วของเหยื่อ (เส้นประสีส้ม)ทำให้การตีเหยื่อที่ทำมุมขนานกับผิวน้ำ เช่น sidecast, under-hand roll, การทอยเหยื่อ (flippin) หรือ การดีดเหยื่อ (pitchin) ทำได้ดีกว่าระบบแม่เหล็ก และแรงหน่วงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ ระดับการปรับ (รูปที่ 6) ทำให้ใช้งานกับเหยื่อน้ำหนักต่างๆ ได้หลากหลายกว่า
มาถึงตอน 2 แล้วก็หวังว่าน้าๆ คงพอเข้าใจพื้นฐานระบบหน่วงแต่ละชนิดบ้างแล้วนะครับ ในตอนต่อไปจะอธิบายถึงระบบหน่วงของ Daiwa และ Shimano ซึ่งทั้งสองบริษัทก็มีเทคนิคต่างๆ ที่ทำให้ระบบหน่วงทั้งสองระบบพัฒนาไปสู่ขั้น Advance ชดเชยข้อด้อยต่างๆ จนเกือบสมบูรณ์แบบ ติดตามได้ในตอน 3 นะครับ
ขอให้มีความสุขกับการตกปลานะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ระบบหน่วง (Shimano vs Daiwa) ตอน 1

...ผมเป็นคนนึงที่ชอบใช้รอกเบทมากๆครับ ชอบตอนสปูลสะบัดน้ำตอนตีเหยื่อ ชอบแรงสั่นสะเทือนเวลาปลาลากสายออกจากรอก และชอบอีกหลายๆ อย่าง ชอบใครชอบมันก็แล้วกัน รอกเบทตัวแรกของผมเป็น CT400 ก็เลยซื้อแต่ชิมาโนมาอีก 2-3 ตัว พักหลังๆ ก็มาลองดูไดว่าบ้าง เห็นได้ว่าชิมาโนเป็นระบบเม็ดหน่วงเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนไดว่าโดยมากเป็นระบบแม่เหล็ก อดสงสัยไม่ได้ก็เคยไปค้นคว้ามาแล้วก็ขอเอามาแบ่งปันกันนะที่นี้ก็แล้วกันครับ...

...ก่อนอื่น...มาทำความเข้าใจสักนิดก่อนนะครับว่าสายมันฟู่ได้อย่างไร...
...เวลาตีเหยื่อออกไปเหยื่อก็จะพุ่งเป็นแนวเฉียงทำมุมกับพื้น ซึ่งเราแตกความเร็วของเหยื่อที่พุ่งออกเป็น 2 แนวคือ
...1.ความเร็วในแนวขนาน (แกน x) ซึ่งเป็นความเร็วของเหยื่อที่ขนานกับพื้น โดยความเร็วแนวขนานสูงสุดอยู่ในจังหวะก่อนที่เราปล่อยนิ้วโป้งที่กดสปูลอยู่ และเมื่อเราปล่อยนิ้วโป้งให้เหยื่อพุ่งออกไป ความเร็วในแนวขนานจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามแรงต้านอากาศ หรืออาจมีลมพัดตามมา (ไม่ขอพูดถึงการตีเหยื่อตามลมนะครับ เพราะไม่ค่อยฟู่หรอก)...
...2.ความเร็วในแนวดิ่ง (แกน y) เป็นความเร็วที่เหยื่อพุ่งขึ้นไปในอากาศ ความเร็วในแนวดิ่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างจากความเร็วในแนวขนาด ความเร็วในแนวดิ่งมีความเร็วสูงสุดตอนที่ตีเหยื่อออกไปเหมือนความเร็วในแนวขนาน แต่ค่อยๆลดลงจนความเร็วในแนวดิ่งเป็นศูนย์ จากนั้นความเร็วก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเหยื่อตกลงมา จนมีความเร็วสูงสุดอีกครั้งในระดับที่เท่ากับจุดที่ตีเหยื่อ และมากขึ้นไปอีกหากเหยื่อตกลงไปต่ำกว่าระดับที่ตีเหยื่อ...
...เมื่อนำความเร็วทั้งสองมาบวกกกัน เราสามารถแสดงเป็นกราฟความเร็วของเหยื่อ(โดยไม่สนทิศทางของเหยื่อว่าพุ่งขึ้นหรือดิ่งลง) เราจะได้กราฟรูปที่ 1...


...แกนนอนของกราฟนี้คือระยะเวลาของการเหวี่ยงเหยื่อ วินาทีที่ 0 คือวินาทีที่เราปล่อยนิ้วจากสปูล ส่วนแกนตั้งคือความเร็ว...
...เส้นสีแดงคือ ความเร็วเหยื่อที่ดึงสายออกจากสปูลในสภาวะปกติ เส้นสีส้มคือ ความเร็วเหยื่อที่ดึงสายออกจากสปูลเวลาที่ตีเหยื่อต้านลม และเส้นสีน้ำเงินคือความเร็วของสปูล...
...ที่วินาทีที่ 0 คือวินาที่ที่เราปล่อยนิ้วจากสปูล ที่วินาทีนี้เหยื่อมีความเร็วสูงสุด แต่สปูลยังไม่หมุน เมื่อปล่อยนิ้วจะมีแรงดึงจากเหยื่อผ่านสายเบ็ดทำให้สปูลหมุนเร็วขึ้นอย่างรวดเร็ว...
...จนมาถึงจุด A การหมุนของสปูลเท่ากับความเร็วของเหยื่อจึงไม่มีแรงดึงที่จะมาทำให้สปูลหมุนเร็วขึ้นอีก มีเพียงแรงที่ดึงสายที่คลายออกการหมุนเท่านั้น ตั้งแต่จุด A ถึงจุด B ความเร็วของเหยื่อจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเหยื่อพุ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแรงความเร็วในแนวดิ่งเท่ากับศูนย์คงเหลือเฉพาะความเร็วในแนวระนาบเป็นจุดที่เหยื่อมีความเร็วต่ำที่สุดซึ่งก็คือจุด B ส่วนสปูลนั้นถูกดีไซน์ให้สมดุลย์มีแรงเสียดทานต่ำ สปูลจึงยังคงหมุนที่ความเร็วค่อนข้างคงที่ตามแรงเฉื่อยของตัวสปูลเอง...
...เมื่อเหยื่อพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วก็จะตกลงมา ทำให้เกิดความเร็วในแนวดิ่งอีกครั้ง ตั้งแต่จุด B ไปถึงจุด C ความเร็วของเหยื่อจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไปเท่ากับความเร็วในการหมุนของสปูลที่จุด C และตั้งแต่จุด C ไปถึงจุด D คือจุดมีแรงดึงจากเหยื่อไปเร่งการหมุนของสปูลอีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งเหยื่อกระทบเป้าหมายและเราใช้นิ้วกดหยุดการหมุนของสปูลที่จุด D...
...จากกราฟ ช่วงขณะที่มีโอกาสเกิดสายฟู่ได้นั้นคือช่วงเวลาที่ความเร็วของเหยื่อช้ากว่าความเร็วของสปูลตั้งแต่จุด A ไปถึงจุด C นั่นเอง โดยจุดที่มีโอกาสเกิดสายฟู่มากที่สุดคือจุด B หรือช่วงเวลาที่เหยื่อพุ่งขึ้นไปสู่ต่ำแหน่งสูงสุด ผมเองก็เคยสังเกตุเหมือนกันว่าถ้าตีเหยื่อแบบไม่ใช่ระบบหน่วงเลย จะมีอยู่ช่วงจังหวะนึงที่สายบานฟูออกมาจากสปูล ต้องคอยเอานิ้วลูบไว้ แล้วสายที่บานฟูออกก็จะถูกดึงออกไปในที่สุด...
...นอกจากนี้ในกรณีที่ตีเหยื่อทวนลม ตามกราฟเส้นสีส้ม จะเห็นได้ว่าความเร็วของเหยื่อกับสปูลนั้นแตกต่างกันมากกว่าปกติ ทำให้โอกาสเกิดสายฟู่จึงมากขึ้นไปอีก...
...อธิบายกันมาพักใหญ่แล้ว หวังว่าคงพอเข้าใจกับแล้วนะครับว่าสายฟู่เกิดขึ้นได้อย่างไร ติดตามต่อไปตอนที่ 2 นะครับ...

...มีความสุขกับการตกปลาทุกคนนะครับ...^_^

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ทำอย่างไรให้หมาน หมาน

หมาน... หมาน... หมาน...
=== ติดตามตอนต่อไป===

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วันเบาๆ กับบทเรียนสปินเนอร์เบท

...วันนี้ใช้เวลาที่พอมีออกทริปเล็กๆ ไปเรียนรู้การใช้สปินเนอร์เบท ผลที่ได้คือเปคูไซส์กิโลกับสปินเนอร์เบทที่ใบหายไปตามรูป พอดีว่าเจ้าเปคูตัวนี้ขึ้อายดิ้นตกน้ำไปก่อน เลยไม่ได้รูปมาโชว์ตัวกัน...
...เทคนิคที่ใช้คือตีสปินเนอร์เบทเรียดหน้าดิน ถ้าสะดุดอะไรก็ให้กระตุกปลายคันเบ็ดประมาณว่าพอสปินเนอร์เบทสะดุดเราก็กระตุดให้สปินเนอร์เบทเกิดอาการเสียหลักแบบโผไปข้างหน้า เป็นการกระตุ้นให้ปลาเกิดอาการ "รีเฟล็กสไตรค์(reflex strike)" ซึ่งเป็นการตอบสนองเฉพาะของปลาล่าเหยื่อและพวกกึ่งๆ ล่าเหยื่อ เช่น ปลานิล หรือ เปคู ด้วย บ่อที่ไปตกเป็นย่อเลี้ยงไม่ค่อยมีอุปสรรคใต้น้ำมากนัก ที่ด้วยการขุดสระเป็นขั้นๆ ทำให้สปินเนอร์เบทสะดุดและเกิดแอ๊คชั่นได้ตามต้องการเหมือนกันจนได้เจ้าเปคูมา 1 ตัว...
...ทำความเข้าใจเกี่ยวกับรีเฟล็กสไตรค์ กันสักนิดนึง สำหรับมืออาชีพด้านเหยื่อปลอมในต่างประเทศนั้นเขาประมาณกันว่า 1 ใน 3 ของปลาที่ตกได้นั้นได้มาจากรีเฟล็กสไตรค์ กล่าวคือเมื่อสิ่งเคลื่อนไหวผ่านเข้ามาในระยะและมีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวโดยฉับพลันปลาจะโจมตีเหยื่อตามสัญชาติญาณของนักล่าไม่ว่าจะหิวหรือไม่ก็ตาม...
...สำหรับสปินเนอร์เบทอาจดูเป็นเหยื่อที่หน้าตาประหลาด แต่ถ้าพิจารณากันดีๆ แล้วก็ไม่ต่างอะไรกับสปินเนอร์ที่เราใช้ตีปลาช่อนกันมานานแสนนานแล้ว เพียงแต่ย้ายตัวเบ็ดออกจากตำแหน่งท้ายไปสปินเนอร์ไปห้อยอยู่ด้านล่าง เวลาลากเหยื่อในน้ำใบสปินก็จะหมุนใกล้ตัวเบ็ดนั้นแหละ และใบสปินที่มีทั้งแรงสั่นสะเทือนจากการหมุนและแสงสะท้อนวับวาวเกิดเป็นภาพลวงให้เข้าใจว่าเป็นปลาเหยื่อที่ว่ายผ่านมาและหลงเข้าชาร์ตใบสปินและไปโดยตัวเบ็ดที่อยู่ในตำแหน่งใกล้ๆกัน ดูสปินเนอร์เบทในรูปได้นะครับว่าใบสปินท้ายหายไป ไม่แน่ใจว่าปลาชาร์ตจนหลุดในบ่อหรือว่าลงไปในท้องเจ้าเปคูแล้ว เห็นสปลิทริงง้างเลย ข้อดีที่ทำให้สปินเนอร์เบทพิเศษว่าสปินเนอร์ก็คือมีก้านลวดอยู่ในแนวเดียวกับตัวเบ็ด ทำหน้าที่เสมือนเป็นการ์ดป้องกันตัวเบ็ดไปเกี่ยวกับสิ่งไม่พึงประสงค์ใต้น้ำ ทำให้สามารถตีเหยื่อได้ในหลายๆสภาพ นอกจากนี้เรายังสามารถลากเหยื่อไปกระทบสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใต้น้ำเพื่อให้เหยื่อเกิดอาการสะดุดและกระตุ้นให้เกิดรีเฟล็กซ์สไตรค์ สำหรับตัวเบ็ดของสปินเนอร์เบทนั้นนิยมประกอบกับพู่ยางเพราะเวลาที่เหยื่อไปสะดุดสิ่งต่างๆที่อยู่ใต้น้ำ พู่ยางที่ลู่มาตามน้ำจะแผ่ออกเป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกความสนใจของปลาได้ดี แต่ก็สามารถประกอบกับปลายางหรือหนอนยางก็ได้เช่นกัน ปลาชอบอันไหนก็เอาอันนั้นแหละ ว่ากันจริงๆแล้ว มีเฉพาะใบสปินกับตัวเบ็ดปลาก็หลงเข้ามาฮุบได้เหมือนกันแหละครับ ใครไปลองแล้วไปผลยังไงบอกกันบ้างนะครับ...
...ขอให้มีความสุขกับการตกปลานะครับ...^_^

just love fishing

แค่คน... คนหนึ่งคน... ที่รักการตกปลา
และหวังแบ่งปันเรื่องราวให้กับน้าๆ ที่มีความชื่นชอบเหมือนกัน...
ขอให้มีความสุขกับการตกปลานะครับ... ^_^