วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ระบบหน่วง (Shimano vs Daiwa) ตอน 1

...ผมเป็นคนนึงที่ชอบใช้รอกเบทมากๆครับ ชอบตอนสปูลสะบัดน้ำตอนตีเหยื่อ ชอบแรงสั่นสะเทือนเวลาปลาลากสายออกจากรอก และชอบอีกหลายๆ อย่าง ชอบใครชอบมันก็แล้วกัน รอกเบทตัวแรกของผมเป็น CT400 ก็เลยซื้อแต่ชิมาโนมาอีก 2-3 ตัว พักหลังๆ ก็มาลองดูไดว่าบ้าง เห็นได้ว่าชิมาโนเป็นระบบเม็ดหน่วงเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนไดว่าโดยมากเป็นระบบแม่เหล็ก อดสงสัยไม่ได้ก็เคยไปค้นคว้ามาแล้วก็ขอเอามาแบ่งปันกันนะที่นี้ก็แล้วกันครับ...

...ก่อนอื่น...มาทำความเข้าใจสักนิดก่อนนะครับว่าสายมันฟู่ได้อย่างไร...
...เวลาตีเหยื่อออกไปเหยื่อก็จะพุ่งเป็นแนวเฉียงทำมุมกับพื้น ซึ่งเราแตกความเร็วของเหยื่อที่พุ่งออกเป็น 2 แนวคือ
...1.ความเร็วในแนวขนาน (แกน x) ซึ่งเป็นความเร็วของเหยื่อที่ขนานกับพื้น โดยความเร็วแนวขนานสูงสุดอยู่ในจังหวะก่อนที่เราปล่อยนิ้วโป้งที่กดสปูลอยู่ และเมื่อเราปล่อยนิ้วโป้งให้เหยื่อพุ่งออกไป ความเร็วในแนวขนานจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามแรงต้านอากาศ หรืออาจมีลมพัดตามมา (ไม่ขอพูดถึงการตีเหยื่อตามลมนะครับ เพราะไม่ค่อยฟู่หรอก)...
...2.ความเร็วในแนวดิ่ง (แกน y) เป็นความเร็วที่เหยื่อพุ่งขึ้นไปในอากาศ ความเร็วในแนวดิ่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างจากความเร็วในแนวขนาด ความเร็วในแนวดิ่งมีความเร็วสูงสุดตอนที่ตีเหยื่อออกไปเหมือนความเร็วในแนวขนาน แต่ค่อยๆลดลงจนความเร็วในแนวดิ่งเป็นศูนย์ จากนั้นความเร็วก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเหยื่อตกลงมา จนมีความเร็วสูงสุดอีกครั้งในระดับที่เท่ากับจุดที่ตีเหยื่อ และมากขึ้นไปอีกหากเหยื่อตกลงไปต่ำกว่าระดับที่ตีเหยื่อ...
...เมื่อนำความเร็วทั้งสองมาบวกกกัน เราสามารถแสดงเป็นกราฟความเร็วของเหยื่อ(โดยไม่สนทิศทางของเหยื่อว่าพุ่งขึ้นหรือดิ่งลง) เราจะได้กราฟรูปที่ 1...


...แกนนอนของกราฟนี้คือระยะเวลาของการเหวี่ยงเหยื่อ วินาทีที่ 0 คือวินาทีที่เราปล่อยนิ้วจากสปูล ส่วนแกนตั้งคือความเร็ว...
...เส้นสีแดงคือ ความเร็วเหยื่อที่ดึงสายออกจากสปูลในสภาวะปกติ เส้นสีส้มคือ ความเร็วเหยื่อที่ดึงสายออกจากสปูลเวลาที่ตีเหยื่อต้านลม และเส้นสีน้ำเงินคือความเร็วของสปูล...
...ที่วินาทีที่ 0 คือวินาที่ที่เราปล่อยนิ้วจากสปูล ที่วินาทีนี้เหยื่อมีความเร็วสูงสุด แต่สปูลยังไม่หมุน เมื่อปล่อยนิ้วจะมีแรงดึงจากเหยื่อผ่านสายเบ็ดทำให้สปูลหมุนเร็วขึ้นอย่างรวดเร็ว...
...จนมาถึงจุด A การหมุนของสปูลเท่ากับความเร็วของเหยื่อจึงไม่มีแรงดึงที่จะมาทำให้สปูลหมุนเร็วขึ้นอีก มีเพียงแรงที่ดึงสายที่คลายออกการหมุนเท่านั้น ตั้งแต่จุด A ถึงจุด B ความเร็วของเหยื่อจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเหยื่อพุ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแรงความเร็วในแนวดิ่งเท่ากับศูนย์คงเหลือเฉพาะความเร็วในแนวระนาบเป็นจุดที่เหยื่อมีความเร็วต่ำที่สุดซึ่งก็คือจุด B ส่วนสปูลนั้นถูกดีไซน์ให้สมดุลย์มีแรงเสียดทานต่ำ สปูลจึงยังคงหมุนที่ความเร็วค่อนข้างคงที่ตามแรงเฉื่อยของตัวสปูลเอง...
...เมื่อเหยื่อพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วก็จะตกลงมา ทำให้เกิดความเร็วในแนวดิ่งอีกครั้ง ตั้งแต่จุด B ไปถึงจุด C ความเร็วของเหยื่อจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไปเท่ากับความเร็วในการหมุนของสปูลที่จุด C และตั้งแต่จุด C ไปถึงจุด D คือจุดมีแรงดึงจากเหยื่อไปเร่งการหมุนของสปูลอีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งเหยื่อกระทบเป้าหมายและเราใช้นิ้วกดหยุดการหมุนของสปูลที่จุด D...
...จากกราฟ ช่วงขณะที่มีโอกาสเกิดสายฟู่ได้นั้นคือช่วงเวลาที่ความเร็วของเหยื่อช้ากว่าความเร็วของสปูลตั้งแต่จุด A ไปถึงจุด C นั่นเอง โดยจุดที่มีโอกาสเกิดสายฟู่มากที่สุดคือจุด B หรือช่วงเวลาที่เหยื่อพุ่งขึ้นไปสู่ต่ำแหน่งสูงสุด ผมเองก็เคยสังเกตุเหมือนกันว่าถ้าตีเหยื่อแบบไม่ใช่ระบบหน่วงเลย จะมีอยู่ช่วงจังหวะนึงที่สายบานฟูออกมาจากสปูล ต้องคอยเอานิ้วลูบไว้ แล้วสายที่บานฟูออกก็จะถูกดึงออกไปในที่สุด...
...นอกจากนี้ในกรณีที่ตีเหยื่อทวนลม ตามกราฟเส้นสีส้ม จะเห็นได้ว่าความเร็วของเหยื่อกับสปูลนั้นแตกต่างกันมากกว่าปกติ ทำให้โอกาสเกิดสายฟู่จึงมากขึ้นไปอีก...
...อธิบายกันมาพักใหญ่แล้ว หวังว่าคงพอเข้าใจกับแล้วนะครับว่าสายฟู่เกิดขึ้นได้อย่างไร ติดตามต่อไปตอนที่ 2 นะครับ...

...มีความสุขกับการตกปลาทุกคนนะครับ...^_^

1 ความคิดเห็น:

  1. ความรู้ดีๆทั้งนั้นเลยครับ ผมก็เป็นคนนึงที่ชอบการตกปลาเป็นชีวิตจิตใจเช่นกัน แต่ในส่วนของอุปกรณ์ก็ยังไม่ประสาเท่าไหร่ ขอบคุณสำหรับความรู้นะครับแล้วจะแวะมาเรื่อยๆ หรือจะแวะมาเที่ยวที่บล้อกผมบ้างก็ได้นะครับ
    http://jawnoyfishing.blogspot.com/

    ตอบลบ