สีของเหยื่อปลอมเวลา
ไปเลือกเหยื่อที่ร้านทีไร ต้องเสียเวลาลังเลใจทุกที น้าๆ ก็คงเป็นเหมือนกันนะครับเพราะเหยื่อแต่ละชนิดมีสีให้เลือกมากมายเหลือเกิน เอาที่เหมือนลูกปลาเหยื่อในบ้านเราก็ใช่ว่าจะมีเสมอไป บางสีไม่น่าจะกินได้แต่ก็ทำมาขายกัน วันนี้ขอมาแนะนำหลักการคร่าวๆ ในการเลือกสีของเหยื่อปลอมก็แล้วกัน
สีของน้ำข้อนี้เอามาจากเว๊ปของ mepp ครับ สีของน้ำก็เหมือนแว่นตาของปลา ถ้าน้ำสีเขียวก็เหมือนปลาใส่แว่นตาสีเขียว เหยื่อที่มีสีเขียวและสีใกล้เคียงกับเขียว เช่น น้ำเงินหรือเหลีองจะดูสว่างกว่าสีอื่นๆ ในทำนองเดียวกันถ้าน้ำแดงก็ต้องเลือกประมาณว่า เหลือง ส้ม แดง แบบสี Fire Tiger (นึกถึงสีรุ้งไว้ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง) อย่างไรก็ตามปลาไม่ได้เห็นเหยื่อทั้งตัวหรอกนะครับ แต่จะเป็นเป็น illusive หรือภาพลวงตาแบบวับๆ แวบๆ เหมือนโคโยตี้ที่เต้นในผับนั่นแหละ ทั้งแบล็คไลท์ ทั้งแฟลช แล้วก็แสงสารพัดสีสองไปมา ตัดกับบรรยาศมืดๆ เกิดเป็นภาพ illusive เล่นเอาเคลิ้มกันน้ำลายหยดกันเลย... แต่พอเจอตัวจริง เฮ้อ...ผิดหวังประจำ...
แบ็คกราวน์
แบ็คกราวน์ก็เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เช่น ปลาหลบอยู่ในแนวสาหร่าย ฝั่งตรงกันข้ามไกลๆ ออกไปเป็นผืนน้ำเปิดโล่งสว่าง น้ำเป็นสีเขียว เมื่อใช้เหยื่อสีเขียวซึ่งสว่างกว่าสีอื่นๆ ในน้ำสีเขียว ความสว่างก็จะกลืนกับแบ็คกราวน์ที่เป็นพื้นน้ำเปิดโล่ง ปลาก็มองเห็นไม่ชัดได้เหมือนกันในทางกลับกันถ้าฝั่งตรงกันข้ามไกลออกไปเป็นภูเขา หรือป่า หรือสิ่งปลูกสร้าง ทำให้แบ็คกราวน์เป็นสีเข้ม ใช้เหยื่อสีเขียวในน้ำสีเขียว เหยื่อจะสว่างตัดกับแบ็คกราวน์มากกว่าหรือการใช้เหยื่อสีเข้มในน้ำใส เพราะแสงสว่างส่องลงไปในน้ำเยอะและสิ่งต่างๆใต้น้ำก็สะท้อนแสงออกมาก สีเข้มๆ จะตัดกับแสงที่สะท้อนออกมาเกิดภาพ illusive เช่นกันหรือหน้าดินก็เป็นฉลากหลังด้วย พวกพื้นทรายจะสะท้อนแสงดูสว่างมากกว่าพวกพื้นโคลน
ความลึกของน้ำ
ยิ่งลึกแสงก็ยิ่งน้อยครับ ถ้าเหยื่อว่ายในที่ลึกมากๆ แสงน้อย เหยื่อแบบใสๆ จะกลมกลืนจนมองไม่เห็น เลือกเหยื่อแบบทึบแสงปลาจะเห็นการเคลื่อนไหวของเหยื่อได้มากกว่า
สภาพอากาศ
สภาพอากาศส่งผลต่อแสงสีที่ส่องลงไปในน้ำครับ ถ้าครึ้มๆ หน่อย หรือตอนเช้า หรือตอนเย็น แสงสีแดงและสีใกล้เคียงจะเยอะกว่า ใช้เหยื่อสีแดงหรือสีใกล้เคียงจะเห็นชัดกว่า แต่ถ้าฟ้าสว่าง มันก็มีแสงทุกสีส่องลงไปในน้ำ ถ้าใช้เหยื่อสีแดงก็จะเห็นเป็นสี แด๊ง แดง ปลาก็ระแวงได้เหมือนกัน
เหยื่อแบบสีโครเมียม
เหยื่อแบบสีโครเมียม อาจเป็นสีเงินโครเมียม หรือสีทองโครมเมียม สะท้อนเงาเป็นกระจกเลย เวลาลงน้ำเหยื่อพวกนี้ก็สะท้อนเงาสิ่งรอบข้างเช่นกันครับ เช่นตกแถวแนวสาหร่ายก็สะท้อนเงาสาหร่ายกลืนกับเงาสาหร่าย ตกแถวแนวกิ่งไม้ตอไม้ก็สะท้อนเงากิ่งไม้ตอไม้ เหมือนลูกปลาที่ปรับสีตัวเองให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เวลาเหยื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดเป็นภาพ illusive เหมือนฉากการล่องหนของ predator คือเห็นเป็นอะไรบางอย่างใสๆ วูบๆ วาบๆ
เหยื่อแบบใส
เหยื่อแบบใส หรืออาจเป็นเขียวใส เหลืองใส แดงใส น้ำเงินใส หรือใสแบบหลายๆ สี ใส่เกล็ดเงินเกล็ดทองระยิบระยับเข้าไปด้วยก็มี ก็คล้ายๆ กับเหยื่อแบบโครมเมียมนั่นและครับ ให้แสงส่องผ่านให้กลืนกับฉากหลังบ้างเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับสีของตัวเองให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมให้เกิดภาพ illusive เช่นกัน ปลามันอาจนึกส่ง "ฮิ ฮิ หนอนตัวนี้โง่จริงๆ ปรับสีตัวเองไม่เนียนเลย ฉันยังเห็นได้ลางๆ กินมันเลยดีว่า!" แล้วมันก็มางับเบ็ด..เสร็จเรา อิ อิ (^_^)
สีปลาบาดเจ็บ
สังเกตดูว่าเหยื่อปลั๊กส่วนใหญ่จะคางสีแดง นั่นคือลักษณะของปลาป่วยหรือได้รับบาดเจ็บครับ คางแดง เหงือกแดง ครีบแดง ท้องแดง ลิ้นแดง หรือแม้กระทั่งเบ็ดแดงดูเหมือนมีเลือดออก (ลองไปสังเกตปลาทองที่ป่วยดูนะครับ) อีกลักษณะนึงก็คือจุดดำๆบริเวณค่อนไปทางหาง จุดใหญ่ๆ เท่าลูกตาปลานั้นแหละ อันนี้เลียนแบบรอยช้ำบนตัวปลา เหมือนกับว่าถูกปลาตัวอื่นชาร์จมาแล้วทีนึง รอดมากได้แต่ก็ช้ำ อาจร่อแร่ด้วย เหมือนกับปลาตัวอื่นชงไว้แล้ว ปลาอีกตัวที่มาเจอก็กินเสียเลย
ก็เอาไว้เป็นแนวทางในการเลือกเหยื่อก็แล้วกันนะครับ อย่าลืมสังเกตุด้วยนะครับว่าแถวๆ นั้นมีปลาอะไรที่เป็นปลาเหยื่อ หน้าตาเป็นอย่างไร ลูกปลาพวกนั้นตัวเล็กใหญ่แค่ไหนสร้าง illusive แบบไหน เลือกสีได้แล้วก็ต้องทดลองหาแอ็คชั่นช้าเร็ว นุ่มนวลหวือหวา และความลึกที่เหมาะสมด้วย ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องจินตนาการและลองผิดลองถูกกันไปครับ ขอให้ทุกคนสนุกสนานกับทริปตกปลาครับ
วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)